top of page

BLOG

LIBOTHAI

มัดจำ คืออะไร แล้วต้องดำเนินการอย่างไรกับมัดจำ

อัปเดตเมื่อ 27 ก.พ.


มัดจำ หมายความถึง ทรัพย์สินซึ่งอาจเป็น “เงิน” หรือ “ทรัพย์สินอย่างอื่น” ก็ได้ ที่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ส่งมอบให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเป็น “พยานหลักฐาน” ว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว และเป็น “ประกัน ” การที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย ซึ่งแยกอธิบายได้ดังนี้

เป็น “พยานหลักฐาน” ว่าได้ทำสัญญากันแล้ว


การที่คู่สัญญามาทำสัญญากัน และมีการวางมัดจำไว้ กฎหมายจะสันนิษฐานว่า มัดจำนั้นเป็นพยานหลักฐานว่าได้มีสัญญาเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญานั้นแล้ว


แต่การสันนิษฐานตรงนี้ ไม่ใช่การสันนิษฐานเด็ดขาด หมายความว่า หากมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอย่างอื่นมาลบล้างโดยแสดงให้เห็นได้ว่า ยังไม่ได้มีการทำสัญญากัน เพียงแต่วางมัดจำไว้เฉยๆ ก็ถือว่า “สัญญายังไม่เกิด”


ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าสนใจซื้อบ้านในโครงการหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าจะสามารถยื่นกู้ธนาคาร ผ่านหรือไม่ แต่ต้องการจองบ้านหลังที่ตนเองสนใจไว้ก่อน จึงได้วางมัดจำไว้กับโครงการเป็นเงิน 50,000 บาท โดยตกลงกับโครงการว่า ลูกค้าจะขอทำเรื่องเอกสารยื่นกู้ธนาคารก่อน หากกู้ผ่านจึงจะมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโครงการ และโครงการก็ตกลงตามนั้น แต่หากลูกค้ากู้ไม่ผ่าน โครงการก็จะคืนเงินมัดจำ 50,000 บาทให้แก่ลูกค้า


ต่อมา ปรากฏธนาคารปฏิเสธการปล่อยกู้ซื้อบ้านให้ลูกค้า ลูกค้าจึงมีสิทธิขอเงินมัดจำคืนได้ เพราะการวางมัดจำในกรณีนี้ ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน โครงการต้องคืนมัดจำ และไม่สามารถฟ้องให้ลูกค้าซื้อบ้านได้แต่หากธนาคารอนุมัติปล่อยเงินกู้ให้ลูกค้า ลูกค้ากับโครงการก็ต้องมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกันก่อนถึงจะถือว่าสัญญาระหว่างลูกค้ากับโครงการเกิดขึ้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาจะซื้อจะขายอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องตามสัญญานี้ได้

เป็น “ประกัน” การที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้น

เมื่อบุคคลทำสัญญากัน และมีการให้มัดจำกันไว้ มัดจำนั้นถือเป็นประกันว่าจะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย



ผลของการที่มีมัดจำเป็นประกันว่าจะปฏิบัติตามสัญญา


หากคู่สัญญามีการตกลง เรื่องนี้กันไว้ ผลก็จะเป็นไปตามที่ตกลงกัน


คือ ถ้าคู่สัญญาตกลงกันไว้ว่า หากมีการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา ให้มีผลเกี่ยวกับมัดจำนั้นอย่างไร เช่น ให้เอาเป็นการชำระหนี้รายอื่น ให้ส่งคืนคนที่วางมัดจำนั้นครึ่งหนึ่ง หรือคนที่รับมัดจำไว้ริบมัดจำนั้นได้เลย ฯลฯ ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น


หากคู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผลจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ


1. ถ้าคู่สัญญามีการปฏิบัติตามสัญญา

1.1 กรณีที่มัดจำเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เงิน


ให้ฝ่ายที่รับมัดจำไว้ส่งมัดจำ **คืน** ให้แก่ฝ่ายที่วางมัดจำไป


เช่น ช่อผกา จ้างให้ ประวิทย์ ตัดเสื้อ 1 ตัว โดยเอานาฬิกาข้อมือวางมัดจำไว้

เมื่อช่อผกามารับเสื้อจากประวิทย์ และจ่ายเงินค่าจ้างตัดเสื้อให้แก่ประวิทย์แล้ว ประวิทย์ก็ต้องส่งคืนนาฬิกาข้อมือที่วางมัดจำให้แก่ช่อผกา

1.2 กรณีนี้มัดจำเป็นเงิน


คู่สัญญาสามารถเอามัดจำนั้น **เป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้** ตามสัญญาได้เลย

เช่น ช่อผกาจ้างให้ประวิทย์ตัดเสื้อ 1 ตัว ค่าจ้าง 2,000 บาท โดยวางมัดจำไว้ 500 บาท ****

เมื่อช่อผกามารับเสื้อจากประวิทย์ และจ่ายเงินค่าจ้างตัดเสื้อให้แก่ประวิทย์ ก็ให้ถือว่าเงินมัดจำ 500 บาทนั้นเป็นค่าจ้างตัดเสื้อบางส่วนด้วย ทำให้ช่อผกาต้องจ่ายประวิทย์เพิ่มอีกเพียง 1,500 บาท


2. ถ้าคู่สัญญามีการผิดสัญญา กันหรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย (คือ การปฏิบัติตามสัญญาไม่สามารถเป็นไปได้แล้ว)


2.1 ฝ่ายที่รับมัดจำสามารถริบมัดจำได้ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้


2.1.1 ฝ่ายที่วาง มัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญา


เช่น ช่อผกาทำสัญญาซื้อไม้ จากประวิทย์ โดยได้วางเงินมัดจำให้ไว้ 200,000 บาท ตกลงส่งไม้กันเป็นงวด ๆ ตามกำหนดระยะเวลา


เมื่อตรวจรับไม้แต่ละงวดแล้ว ช่อผกาจะจ่ายเงินสดให้ประวิทย์ทุกงวด ปรากฏว่าในงวดที่ 10 ประวิทย์ ส่งไม้ให้ช่อผกาตามกำหนดในสัญญา และช่อผกาได้ตรวจรับไว้แล้ว แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้ประวิทย์ ช่อผกาเลยค้างค่าไม้อยู่ 450,000 บาท ประวิทย์ทวงถามแล้ว ช่อผกาก็ยังไม่ชำระ


กรณีนี้ ช่อผกา ซึ่งเป็นฝ่ายที่วางมัดจำไม่ยอมชำระหนี้ ดังนั้น ประวิทย์ จึงมีสิทธิ **ริบ** เงินมัดจำ 200,000 บาทได้และยังสามารถ **บังคับให้** ช่อผกา **ชำระเงินส่วนที่เหลือ** แก่ประวิทย์ได้อีกด้วย


2.1.2 การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย โดยที่ฝ่ายที่วางมัดจำต้องรับผิดชอบ

เช่น ช่อผกาทำสัญญาจะซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จาก ประวิทย์ และได้วางเงินมัดจำไว้ 300,000 บาท กำหนดชำระราคารถยนต์ และส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีเดียวกันนั้น


ก่อนที่จะถึงวันนัด ช่อผกาขอยืมรถยนต์คันนั้นจากประวิทย์ไปทดลองขับ ด้วยความประมาททำให้รถยนต์คันนั้นพลิกคว่ำไฟไหม้หมด


กรณีนี้ เป็นกรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นพันวิสัยเพราะพฤติกรรมของช่อผกา ซึ่งเป็นฝ่ายที่วางมัดจำ ช่อผกาจึงต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ประวิทย์จึงสามารถริบเงินมัดจำ 300,000 บาทนั้นได้


นอกจากนี้ ถ้าประวิทย์มีความเสียหายมากกว่าจำนวนเงินมัดจำที่ริบนั้น ประวิทย์ยัง **มีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายส่วนที่เกินมัดจำ** จากช่อผกาเพิ่มได้อีกด้วย


2.1.3 มีการเลิกสัญญา เพราะความผิดของฝ่ายที่วางมัดจำ


เช่น ช่อผกา ทำสัญญาจะซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จากประวิทย์ และได้วางเงินมัดจำไว้ 300,000 บาท กำหนดชำระราคารถยนต์และส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีเดียวกันนั้น

เมื่อถึงวันนัด ประวิทย์เตรียมส่งมอบรถยนต์ให้ช่อผกาแล้ว แต่ช่อผกา **ไม่ชำระ** ราคารถยนต์ที่เหลือให้ประวิทย์

กรณีนี้ ประวิทย์สามารถ **บอกเลิกสัญญาได้** และยังมีสิทธิ **ริบ** เงินมัดจำ 300,000 บาทนั้นได้ นอกจากนี้ ถ้าประวิทย์เสียหายมากกว่าเงินมัดจำที่ริบนั้น ประวิทย์ ยัง **มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายส่วนที่เกินมัดจำ** นั้นได้อีกด้วย


2.2 ฝ่ายที่รับมัดจำต้องคืนมัดจำ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ 2.2.1 ฝ่ายที่รับมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญา


เช่น ช่อผกาทำสัญญาจะซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จากประวิทย์ และได้วางเงินมัดจำไว้ 300,000 บาท กำหนดชำระราคารถยนต์และส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 31 ธันวาคมของปีเดียวกันนั้น

เมื่อถึงวันนัด ช่อผกาเตรียมชำระราคารถยนต์ให้แก่ประวิทย์แล้ว แต่ปรากฏว่าประวิทย์ **ไม่ส่งมอบ** รถยนต์ให้แก่ช่อผกา


กรณีนี้ ประวิทย์ ต้องส่งคืนเงินมัดจำ 300,000 บาทนั้นให้แก่ ช่อผกา และถ้าช่อผกามีความเสียหาย ช่อผกาก็ยัง

มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายได้อีกด้วย

2.2.2 การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย โดยที่ฝ่ายที่รับมัดจำต้องรับผิดชอบ


เช่น ช่อผกาทำสัญญาจะซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จาก ประวิทย์ และได้วางเงินมัดจำไว้ 300,000 บาท กำหนดชำระราคารถยนต์และส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีเดียวกันนั้น

ก่อนที่จะถึงวันนัด ประวิทย์ได้เอารถยนต์คันดังกล่าวขับไปต่างจังหวัดด้วยความเร็ว ทำให้รถยนต์พลิกคว่ำเสียหายทั้งคัน


กรณีนี้ ถือเป็นกรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นพันวิสัยเพราะพฤติการณ์ที่ประวิทย์ ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับมัดจำต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ประวิทย์จึงต้องคืนเงินมัดจำ 300,000 บาทนั้นให้แก่ช่อผกา


2.2.3 มีการเลิกสัญญา เพราะความผิดของฝ่ายที่รับมัดจำ


เช่น ช่อผกาทำสัญญาจะซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จากประวิทย์ และได้วางเงินมัดจำไว้ 300,000 บาทกำหนดชำระราคารถยนต์และส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีเดียวกันนั้น

เมื่อถึงวันนัด ช่อผกาเตรียมเงินสำหรับชำระราคารถยนต์ที่เหลือแล้ว แต่ปรากฏว่าประวิทย์ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ให้ช่อผกาโดยไม่มีเหตุผลสมควร


กรณีนี้ ช่อผกาสามารถบอกเลิกสัญญาได้ และประวิทย์ต้องคืนเงินมัดจำ 300,000 บาทให้แก่ช่อผกา นอกจากนี้ ถ้าช่อผกามีความเสียหายมากกว่าเงินมัดจำนั้น ช่อผกา ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพิ่มจากประวิทย์ได้อีกด้วย


2.2.4 ถ้าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากัน ฝ่ายที่รับมัดจำไว้ให้คืนมัดจำแก่ฝ่ายที่วางมัดจำไป


เช่น ช่อผกา ทำสัญญาจะซื้อรถยนต์ จากประวิทย์ ได้วางเงินมัดจำไว้ 300,000 บาท กำหนดชำระราคารถยนต์และส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีเดียวกันนั้น


ต่อมา ช่อผกาเปลี่ยนใจไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว ในขณะเดียวกันประวิทย์ก็ไม่ต้องการขายรถยนต์คันนี้ให้แก่ช่อผกาแล้วเช่นกัน ช่อผกากับประวิทย์ จึงตกลงเลิกสัญญาจะซื้อขายรถยนต์กัน


กรณีนี้ ประวิทย์ต้องคืนเงินมัดจำ 300,000 บาทให้แก่ช่อผกา


 

Comments


bottom of page